ครูไทยในศตวรรษที่๒๑ …

วันนี้ (4มิ.ย.) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวในเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 17 ในหัวข้อ “ ชุมชนการเรียนรู้ครู : เปลี่ยนห้องสอนให้เป็นห้องเรียน(รู้)” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ว่า ในวงการธุรกิจจะมีหลักการที่รู้กันทั่วไปว่า การที่เคยทำสิ่งใดแล้วให้ผลดี แต่ถ้ายังทำแบบเดิมๆต่อไปก็จะกลายเป็นขาดทุน เพราะสิ่งต่างๆจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนความคิดเป็นระยะๆ ซึ่งเรื่องของการศึกษาก็เช่นกัน การสอนแบบเดิมๆที่ครูเป็นผู้สอนบอกวิชาในห้องเรียนอาจจะเหมาะกับแค่ยุคสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงล่าอาณานิคม แต่ในโลกปัจจุบันคงไม่ใช่แล้ว เพราะการสอนในลักษณะดังกล่าวเป็นการจำกัดศักยภาพของคน เราจึงต้องเปลี่ยนจากห้องสอนมาเป็นห้องเรียนรู้ เพื่อเปิดพื้นที่ไปสู่การเรียนรู้ในทุกพื้นที่ของชีวิต

“การที่ใช้คำว่าสอนวิชา หรือให้ท่องจำจากหนังสือทำให้รู้สึกคับแคบมาก เหมือนอยู่แค่ในห้อง แต่หากบอกว่าเป็นการเรียนรู้จะรู้สึกเหมือนเป็นการได้เปิดออกไปสู่โลกกว้าง เพราะในโลกยังมีสิ่งที่ให้เรียนรู้ได้ไม่จำกัด ในแต่ละชุมชนก็มีแหล่งเรียนรู้จำนวนมาก ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ซึ่งในประเทศไทยมีทรัพยากรอยู่มากมาย หากเราเปลี่ยนความคิดเรื่องการเรียนรู้ได้เชื่อว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศเป็นอย่างมาก” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นักวิชาการอาวุโส กล่าวว่า ครูในยุคนี้ต้องเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ เปลี่ยนจากครูสอนไปเป็นครูฝึก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากปฏิบัติ กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูจะต้องมีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อช่วยกันพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นครูยุคใหม่จึงต้องเป็นผู้เรียนด้วย

“ในอดีตเป็นการเรียนเพื่อให้ได้วิชาจากครู แต่เป้าหมายการศึกษาในโลกยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว นอกจากได้วิชาให้รู้แล้วยังต้องรู้จักการนำวิชาไปใช้ให้เป็นด้วย เพื่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ที่ไม่เหมือนอดีต ดังนั้นการศึกษาจะต้องสร้างทักษะที่่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียน ประกอบด้วย 1.แรงบันดาลใจต่างๆ เช่น การเป็นคนดี มีจิตอาสาทำประโยชน์ให้สังคม ฯลฯ  2.ทักษะการเรียนรู้ เพราะวิชาต่างๆมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง มีของใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา หากขาดทักษะเรียนรู้ก็จะเรียนของใหม่ไม่ได้ รู้แต่เรื่องเดิมๆ เก่าๆ  3. ทักษะการร่วมมือกับคนอื่น และ 4.ทักษะการรู้เท่าทัน มีวินัยในตนเอง” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

อ้างอิง  http://www.dailynews.co.th/education/209380  (วันที่ 06/06/2556)